ช่วงนี้ กระแสคู่กรรมมาแรงเหลือเกินนะคะ ทั้งโกโบบี้ โกโบณเดชน์ ดิฉันเลยลองไปยืมนิยายมาอ่านเทียบกับฉบับละครบ้าง ขอสารภาพว่า ตอนแรก ดิฉันตั้งใจจะอ่านแบบขำๆ จะดูว่าคุณทมยันตีจะมองคนญี่ปุ่น และพูดถึงประเทศนี้อย่างไรบ้าง เพื่อเอามาเขียนในคอลัมน์นี้ แต่อ่านไปก็อินไป ปาดทิชชู่น้ำหูน้ำตาไป เลยลืมหามุขไปเสียนี่ จะกลับไปอ่านอีกรอบ ก็ไม่อยากเตรียมทิชชู่กล่องใหม่อีกแล้ว เลยเปลี่ยนใจไปนั่งเซิร์ชๆ เรื่อง “คู่กรรม” เป็นภาษาญี่ปุ่นแทนค่ะ
1. นิยาย “คู่กรรม” ฉบับภาษาญี่ปุ่น
หน้าตาเป็นแบบด้านล่างเลยค่ะ ผู้หญิงในภาพคงเป็นอังศุมาลินที่คนญี่ปุ่นวาด
ชื่อเรื่อง “คู่กรรม” ฉบับญี่ปุ่น อ่านว่า “メナムの残照” (Me-nam-no-Zan-shou) แปลว่า“อาทิตย์อัสดงริมน้ำ” ค่ะ ส่วนปกหลัง เป็นรูปผู้เขียน คุณทมยันตี บอกชื่อจริงและประวัติเรียบร้อย
2. นิยายเรื่องนี้ หาได้ทั่วไปในญี่ปุ่น
สิ่งที่แปลกใจคือ คนญี่ปุ่นที่เขียนบล็อกมักบอกว่า ยืมจากห้องสมุดประจำจังหวัดมาอ่าน และคนที่บอกอย่างนี้ มีประมาณ 7-8 คน แต่ละคนก็ยืมจากห้องสมุดจังหวัดในภาคต่างๆ เช่น ฟุกุโอกะ คาโกชิม่า ดิฉันก็อึ้งว่า ขนาดห้องสมุดประจำจังหวัดยังมีนิยายไทย (ฉบับแปล) ให้ยืมด้วยเหรอ
พอลองเซิร์ชดูในเว็บไซต์ พบว่าห้องสมุดที่มีนิยายเล่มนี้ มีกว่า 208 แห่งค่ะ!(จากห้องสมุดทั่วประเทศประมาณ 4,600 แห่ง) คุณทมยันตีน่าจะดีใจนะคะ (ดิฉันพยายามเช็คจำนวนห้องสมุดในประเทศไทย เห็นว่ามีห้องสมุดชุมชน 40 แห่ง รวมห้องสมุดมหาลัยอีก 31 แห่ง น่าจะมีจำนวนสัก 70-80 แห่งเอง คงต้องบอกท่านผู้ว่าฯให้สร้างห้องสมุดแล้วเอานิยาย หนังญี่ปุ่นมาให้ยืมซะบ้างแล้ว)
คนญี่ปุ่นทั่วไปอาจยังไม่รู้จักเรื่องนี้ แต่คนญี่ปุ่นที่ชอบเมืองไทย ส่วนใหญ่จะรู้จักคู่กรรมแน่นอนค่ะ บางคนก็รู้จักเพราะมาเมืองไทยแล้วถูกเรียกเป็น “โกโบริ” เลยงงๆ ว่าอีตาโกโบรินี่ใคร ก็ขวนขวายหานิยายมาอ่าน หาแผ่นมาดูกันไป
3. ชื่อตัวละคร
โกโบริ เป็นชื่อญี่ปุ่นจริงหรือเปล่า ตอบได้เลยค่ะว่า มีนามสกุลนี้จริงๆ เขียนแบบนี้ค่ะ “小堀” อ่านภาษาญี่ปุ่นจริงๆคือ “โคะ-โบ-ริ” อยากทราบคำแปลไหมคะ? ☺
โคะโบริ แปลว่า “คูน้ำเล็กๆ” ค่ะ 555.. โคะ(小)แปลว่า เล็ก โบริ มาจากคำว่า “โฮริ (堀り)” แปลว่า การขุด แต่พอใช้ในชื่อคน ก็จะแปลว่า คูน้ำเล็กๆค่ะ คนญี่ปุ่นก็แปลกใจเหมือนกันว่า ทำไมคุณทมยันตีถึงเลือกชื่อ “โกโบริ” ไม่ใช่ “ยามาดะ” “ซูซูกิ” หรือ “ทานากะ” คนชื่อโกโบริมีไม่ค่อยมากเท่าไร ดิฉันอยู่ญี่ปุ่นมา 8 ปียังไม่เคยเจอ “โกโบริซัง” เลย ลูกศิษย์คนญี่ปุ่นดิฉันอายุ 52 ปีแล้ว แกบอก แกก็ยังไม่เคยเจอ “โกโบริ” ตัวเป็นๆ เช่นเดียวกัน
ส่วนอังศุมาลิน แปลว่า พระอาทิตย์ โกโบริแกตั้งชื่อภาษาญี่ปุ่นให้เรียบร้อยว่าชื่อ “ฮิเดโกะ” ภาษาญี่ปุ่นเขียนแบบนี้ค่ะ “日出子” ก็แปลตรงตัว ตะวัน (ฉาย)
4. คนญี่ปุ่นคิดยังไง
เท่าที่อ่านดู หากคนอ่านเป็นผู้ชาย เค้าจะชอบฉากบรรยายแม่น้ำ สวน บ้านไทยๆ แล้วก็ตอนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงสงคราม ซึ่งเขาจะแปลกใจกันว่า กรุงเทพฯ เคยโดนทิ้งระเบิดด้วยเหรอ
ส่วนถ้าคนอ่านเป็นผู้หญิง ก็จะอินเหมือนสาวไทยแหละค่ะ ฉากรักซึ้งโรแมนติค ฉากตอนโกโบริบอกรักอังศุมาลิน ซึ่งดิฉันคิดว่า คงเป็นประโยคที่สาวๆ ญี่ปุ่นตั้งหน้าตั้งตารอให้หนุ่มๆ ญี่ปุ่นบอกสักที แต่หนุ่มๆ ไม่ยอมแย้มบอกบ่อยเท่าโกโบริ หลายๆ คนบอกว่า พออ่านประโยคที่โกโบริพูดแล้วเขินจัง อั๊ย
มีลุงคนหนึ่งดูละครคู่กรรมตอนพี่เบิร์ดเล่น แกก็เป็นห่วงสุขภาพโกโบเบิร์ดว่า อากาศเมืองไทยร้อนขนาดนี้ ใส่ชุดทหารเต็มยศ แขนยาว รองเท้าบู๊ทแล้วจะสู้ไหวไหม
อีกคนบอกว่าดูซึ้งๆ ดี แต่พอเห็นฉากภาพแขวนภาษาญี่ปุ่นในเรือนหอของทั้งคู่ เผลอขำออกมา … ดูเหมือนคนไทยลอกๆ ภาษาญี่ปุ่นผิด มันควรจะเป็นฮิเดโกะ ( 日出子 หรือ ひで子) แต่ลองดูในภาพนะคะ
ส่วนฉากที่คนญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุด (เห็นเขียนถึง 3 คนแล้ว) คือ ฉากตอนจบค่ะ ใครยังไม่เคยรู้ตอนจบคู่กรรมให้กระโดดข้ามไปเลยนะคะ
ตอนที่อังศุมาลินไปพบโกโบริสภาพร่อแร่ แล้วคุณหมอมาตรวจ คุณหมอบอกไม่ไหวแล้ว … ในเวอร์ชั่นโกโบเบิร์ด พี่เบิร์ดบอกหมอว่า “ซาโยนาระ” และหมอก็ตอบกลับมาว่า “ซาโยนาระ” ฉากนี้เรียกน้ำตาคนไทยมากๆ แต่คนญี่ปุ่นดูแล้วขำมาก ไม่ต้องสุภาพขนาดนี้ได้ป๊ะ อารมณ์เหมือนกับคนป่วยที่ใกล้ตายบอกคุณหมอว่า “ลาก่อนนะครับหมอ” (อารมณ์ยกมือบ๊ายบาย) แล้วหมอก็ตอบว่า “ลาก่อนนะคุณ” มันไม่ใช่ มันไม่ใช่
สุดท้ายนี้ ขอจบด้วยประโยคเด็ดจากเรื่องก็แล้วกัน “อนาตะ โอ อาอิชิ มาสุ” … ดิฉันรักคุณ (ผู้อ่าน) ตลอดไป
ประโยคที่อยากบอกมานาน <3 ฮาๆ กล่าวจบแล้ว แต่ดิฉันจะยังไม่ขาดใจตายและยังไม่ไปรอที่ทางช้างเผือกนะคะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– รีวิวภาพยนตร์ Chronicle of My Mother
– รีวิวหนัง Wolf Children.. คู่จี๊ดชีวิตอัศจรรย์
– Hanamizuki รักแท้ ที่มี “ระยะทาง” และ “เวลา” เป็นเครื่องพิสูจน์
– รีวิวภาพยนตร์ญี่ปุ่น I Wish (Kiseki 奇跡)
– 10 อันดับผลงานของ Hayao Miyazaki & Studio Ghibli ที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ
#คู่กรรม