ถ้าเราตั้งคำถามว่ามีการ์ตูนเรื่องไหนบ้างที่ชอบเป็นพิเศษ ? มีการ์ตูนเรื่องไหนทีอยากจะแนะนำให้คนอื่นอ่าน ? ผมตอบคำถามนี้ได้ไม่ยากเลย และเรื่องที่ผมจะแนะนำก็คือ “NANA” ของอาจารย์ “ไอ ยาซาว่า” นั่นเอง
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงก็คือ การ์ตูน ทั้งในแง่ของอนิเมชั่น หรือหนังสือ ซึ่งล้วนผลิตออกมาเพื่อการเข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย และอาจรวมไปถึงในหลากหลายเชื้อชาติ ว่ากันว่าการ์ตูนคือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ญี่ปุ่นใช้เป็นผู้ส่งสาร… เป็นเหมือนทูตเผยแพร่วัฒนธรรมในทางพฤตินัย และทำให้ตัวตนของรัฐชาติบังเกิดเป็นความชื่นชม ตลอดจนเป็นความหลงใหลของคนที่มีโอกาสได้สัมผัส
โดยส่วนตัว สำหรับผมนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับญี่ปุ่น ก็เพราะ “การ์ตูน” ซึ่งไม่ใช่แค่ผม เพราะเด็กๆ ในช่วง 20 ปีก่อน ล้วนเติบโตมาจากรายการการ์ตูนญี่ปุ่นทางฟรีทีวี และของเล่นแห่งยุคสมัยต่างๆ ก็ล้วนต่อยอดมาจากความนิยมทางจอทีวีทั้งนั้น แต่ถ้าเราตั้งคำถามว่ามีการ์ตูนเรื่องไหนบ้างที่ชอบเป็นพิเศษ ? มีการ์ตูนเรื่องไหนทีอยากจะแนะนำให้คนอื่นอ่าน ? ผมตอบคำถามนี้ได้ไม่ยากเลย และเรื่องที่ผมจะแนะนำก็คือ “NANA” ของอาจารย์ “ไอ ยาซาว่า” นั่นเอง
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าผมรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้ผ่านทางภาพยนตร์ที่มีนักร้องดังอย่าง “มิกะ นากาชิมะ” มาเป็นตัวเอกคู่กับดาราคนโปรดคือ “อาโออิ มิยาซากิ” ครั้งแรกที่ผมได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมรู้สึกมีความสุขและอิ่มเอมอย่างน่าประหลาด นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมซื้อหนังสือการ์ตูนมาอ่าน และยังคงอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่อยมาจนปัจจุบัน
“เราทุกคนเป็นคนสายตายาว… เรามักให้ความรักต่อสิ่งสำคัญที่อยู่ไกล… มากกว่าจะใส่ใจความรักที่อยู่ใกล้… เราจะหันกลับมามองมันอีกครั้ง… ก็ตอนที่เราตระหนักว่าไม่มีวันเอื้อมถึงอีกแล้วนั่นล่ะ”…
บางคนอาจจะมองว่า “นานะ” คือหนังสือการ์ตูนผู้หญิง เช่นเดียวกับผลงานที่มีชื่อเสียงของ “ไอ ยาซาว่า” ในช่วงก่อนหน้า อย่าง “พาราไดซ์ คิส” ที่มีแฟนๆ ติดตามกันมาก แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรให้ข้อแม้เหล่านี้เป็นเหตุผลในการปฏิเสธการเข้าถึงสิ่ง ดีๆ สักเรื่องหนึ่ง เป้าหมายของการ์ตูนไม่ใช่การบอกว่าหนังสือเล่มนี้ “เป็นของใคร และทำมาเพื่อใคร” แต่เป็นการบอกให้เรารู้ว่า “คุณจะได้อะไรจากการอ่านเนื้อหาของฉัน” ต่างหาก
“นานะ” เป็นการ์ตูนที่ตีแผ่ชีวิตของวัยรุ่นในแง่มุมของความเศร้าที่งดงาม ด้วยการเดินเรื่องหลักที่ใช้ตัวละคร “ชื่อเดียวกัน” ให้กลายเป็น Conflict ใหญ่ๆ และแสดงให้เห็น “ขั้วตรงข้าม” อย่างชัดเจนมากขึ้น… ธีมของเรื่องนี้อาจพูดได้ในประโยคสั้นๆว่า “นานะคนหนึ่งรักที่จะมีความฝัน… นานะอีกคนฝันที่จะมีความรัก”… การ์ตูนเรื่องนี้สอนให้เรากล้าที่จะมีความฝัน ถึงแม้มันจะต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้าง ถึงแม้ความเชื่อของเราจะดูตลกในสายตาคนอื่น แต่อย่างน้อย เราทุกคนต่างรู้ตัวกันดี ว่าบางคนก็พร้อมที่จะหันหน้าเข้าหาเรา ในวันที่เราประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น… เราต้องเป็นฝ่ายที่ใช้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง และเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองฝันและอยากจะทำ ปล่อยวางให้ได้กับบางสิ่งที่เชือดเฉือนตัวเรา อย่างเช่นคำพูดติดปากของ “ฮาจิโกะ” ที่บอกว่า “เธอจะหัวเราะก็ได้นะ…”
“สิ่งที่สำคัญในชีวิตของแต่ละคน… มันไม่เคยเหมือนกันหรอก” … นี่คือหนึ่งในบทพูดที่ผมชอบอย่างยิ่ง การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลจากคู่รักในตำนานของวงการดนตรีคือ “ซิด วิเชียส” จาก “เดอะ เซ็กซ์ พิสตอล” ซึ่งเราสามารถเป็นอิทธิพลเหล่านี้ได้จากวิธีการแต่งตัวของ “เรน” ตลอดจนแนวทางในการดำเนินชีวิต…
ผมขอชี้แจงก่อนว่าโดยส่วนตัว ไม่ได้สนับสนุนหรือเห็นว่าการใช้สารเสพติดเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่การ์ตูนเรื่องนี้ ได้ฉายมุมมองต่างๆ กับเรามากขึ้นว่าบางที บรรทัดฐานทางสังคม… กฏหมาย… ค่านิยม ก็คือสิ่งที่ใช้ตัดสินคุณค่าของคนอย่างไม่เป็นธรรม… เราอยู่ในสังคมที่คนให้ค่ากับความถูก-ผิด มากกว่าความเปลี่ยวเหงาและความอ่อนแอของมนุษย์ เรามักเลือกที่จะตัดสินคนอื่น มากกว่าช่วยให้คนอื่นเข้มแข็งจากสถานการณ์ที่เลวร้าย… และยิ่งความผิดพลาดกลายเป็นความลับที่ถูกฉาบหน้าด้วยความคาดหวัง (เฉกเช่นภาพเบื้องหน้าของการเป็นมือกีตาร์แห่งแทรปเนส) ความกดดันย่อมเกิดขึ้นกับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนผู้คนมากมายเบื้องหน้า อาจไม่มีค่าแม้แต่คนเดียว…
“อยู่คนเดียวกับถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว… มันไม่เหมือนกันนะ” … ผมขอวนไปที่เรื่องของ “ฮาจิโกะ” สาวน้อยผู้มีความฝันเพียงหนึ่งเดียวคือการเป็นเจ้าสาวของผู้ชายดีๆสักคน… ผมมองว่าเธอเป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์มาก ถึงแม้การ์ตูนจะแสดงว่าเธอเป็นคนที่หนีตามผู้ชายมาโตเกียว… เป็นคนที่ท้องก่อนวัยอันควร หรือความผิดพลาดอื่นๆ ที่มีให้เห็นตลอดเรื่อง แต่ฮาจิโกะ ก็เป็นคนที่สังคมต้องการ… เราต้องการคนที่พร้อมจะเป็นกำลังใจแก่ผู้อื่น คนที่พร้อมจะเข้าใจโดยไม่ตั้งคำถามอะไร… ผมเชื่อว่าไม่มีใครสามารถปฏิเสธสิ่งที่เป็นความฝันของตนเองได้หรอก ดังนั้นผมจึงไม่รู้สึกอะไรเมื่อฮาจิโกะยอมให้ตัวเองไหลไปตามครรลองของทาคุมิ (ซึ่งในตอนพิเศษก็แสดงเรื่องราวตั้งแต่วัยเด็กของเขาว่า เป็นอีกคนที่โตมากับความเหงาเช่นกัน)…
“นานะ… ฉันไม่เข้าใจเลย… ทำไมการเดินตามความฝัน กับการมีความสุข ถึงกลายเป็นคนละเรื่องกัน?… จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจ”
ผมขอปิดท้ายคอลัมน์ประจำสัปดาห์นี้ ด้วยประโยคที่กินใจ และทำให้ผมหันมาตั้งคำถามกับตัวเอง… แน่นอน คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อความฝันของตนเองเลย หากแต่เป็นลูกจ้าง เป็นผู้อยู่เบื้องล่างคอยรับใช้ความฝันของคนอื่น และอาจมีเพียงจุดเล็กๆ ที่เราจะแบ่งเวลาไปให้กับความฝันของตนเอง ซึ่งบางทีก็ดูไร้ทิศทางในการเติบโต… อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถปฏิเสธครรลองของชีวิตได้ เช่นเดียวกับที่นานะทั้งสองต้องประสบพบเจอกับปัญหามากมาย กว่าที่จะประสบความสำเร็จ หรือกระทั่งปัญหาอื่นๆ ที่ล้วนตามมาหลังจากความมีชื่อเสียง… นั่นคือสิ่งที่ย้ำเตือนว่า “คนเรา ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” ผมจึงอยากให้ทุกคนลองหาการ์ตูนเรื่องนี้มาอ่าน และผมรับรองว่าคุณจะมีความสุข และได้สิ่งดีๆกลับไปมากกว่าที่คิดแน่นอนครับ
“ฉันไม่สนใจหรอกว่าจะมีใครรักฉันรึเปล่า… เพราะฉันเพียงแค่อยากจะรักใครสักคน… รักเขาให้หมดหัวใจ… มั่นคง ไม่สั่นไหว… ฟังดูเหมือนง่ายใช่ไหม? แต่ฉันก็ไม่เข้าใจ ทำไมมันยากเหลือเกิน?…”
*** ติดต่อพูดคุยกับผู้เขียนโดยตรงได้ทางทวิตเตอร์ @Pumiiiiiiiiii และพบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ ***
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– ราเม็งแห่งความฝัน
– “ป้ายบอกทาง”
– 24 ชม.
– ใจบันดาลแรง
– 10 อันดับการ์ตูนขายดีที่ญี่ปุ่นในรอบครึ่งปี 2013
#nana