Watashi, Teiji de Kaerimasu ฉันไม่ทำงานล่วงเวลาหรอกนะ! ซีรีส์แหวกขนบทำงานดึกด้วยการเลิกงานตรงเวลาของคนญี่ปุ่น
“วันนี้เลิกงานกี่โมง” น่าจะเป็นคำถามคลาสิคของเหล่ามนุษย์เงินเดือน แม้บริษัทส่วนใหญ่จะมีเวลาเข้า-ออกงานที่ชัดเจน แต่ก็เป็นเรื่องยากมาที่จะได้เลิกงานตรงเวลา บางคนถึงขั้นต้องอยู่ออฟฟิศจนดึกดื่น หรือบางคนอาจจะเจอวัฒนธรรมยิ่งอยู่ดึก กลับช้า แสดงว่าเป็นคนขยันทำงาน อุทิศทั้งกายและใจให้กับบริษัท
แต่สำหรับหญิงสาวที่จะมาเล่าให้ฟังนี้ เธอมีกฎเหล็ก “ฉันไม่ทำงานล่วงเวลาหรอกนะ” พอถึงเวลาเลิกงานเธอจะรีบพุ่งตัวออกจากออฟฟิศทันที ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ฮิตกับการเลิกงานแบบนี้สักเท่าไหร่ และเพราะอะไรเธอจึงมีชีวิตแบบนี้ได้ และนี่คือข้อคิดการทำงานที่น่าสนใจจากซีรีส์เรื่องนี้ค่ะ
Watashi, Teiji de Kaerimasu ฉันไม่ทำงานล่วงเวลาหรอกนะ!
พล็อตหลักของซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ก็ตรงตามชื่อเรื่องเลยค่ะ ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของ “ฮิกาชิยาม่า ยุย” (รับบทโดย โยชิทากะ ยูริโกะ) ที่ทำงานเป็นโปรเจ็คไดเร็กเตอร์ที่บริษัททำเว็บไซต์แห่งหนึ่ง และเธอก็พยายามจะทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลางาน จนทำให้เธอเลิกงานตรงเวลาทุกวัน และมักจะวิ่งไปที่ร้านเบียร์ ดื่มเบียร์เย็นๆ หลังเลิกงานทุกวัน
สาเหตุหนึ่งที่เธอมีวิถีการทำงานแบบนี้ก็คือ เธอมีเรื่องฝังใจในสมัยเด็กคือ พ่อของเธอบ้างานมาก เจอหน้าพ่อนับวันได้เลย พอโตมาเป็นสาวสะพรั่ง ก็มีแผนจะแต่งงานกับ “ทาเนดะ โคทาโร่” (รับบทโดย มุไค โอซามุ) คู่หมั้นของเธอ แต่ด้วยความที่เขาบ้างานมากๆ ไม่แพ้พ่อของเธอ ทำให้เกิดปัญหาบางอย่างจนต้องล้มเลิกการแต่งงานไป และต้องเลิกรากันไปในที่สุด
ในเวลาต่อมายุยก็มีแฟนใหม่คือ “ทาคามิ สุวะ” (รับบทโดย ยูอิจิ นากามารุ) ที่ให้เวลาเธอได้เสมอ ที่ไม่ใช่มีแค่เรื่องงานในชีวิตเท่านั้น แต่แล้วชีวิตการทำงานอันแสนสงบก็กลับวุ่นวายขึ้น เมื่ออดีตแฟนเก่าอย่างทาเนดะ พร้อมกับหัวหน้าคนใหม่เดินเข้ามาในบริษัทแห่งนี้
เราจะอยู่บ้าน 4 แสนชั่วโมง หรืออยู่ออฟฟิศ 4 แสนชั่วโมง
พอดูไปเรื่อยๆ เจอฉากหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ เป็นฉากที่ “ยุย” กับ “ทาคามิ” ไปดูห้องใหม่ที่จะย้ายมาอยู่หลังแต่งงาน ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงจนยุยเองก็ตกใจ แต่ทาคามิกลับบอกว่า ไม่ถือว่าแพงหรอก เพราะเราควรให้ความสำคัญกันที่พักอาศัยเพราะว่า ใน 1 ปีมีเวลา 7 แสนชั่วโมง อยู่บ้านก็ปาไปแล้ว 4 แสนชั่วโมง ตรงนี้เลยทำให้เห็นว่า ถ้าวัดจากเวลาการทำงานปกติแล้ว โดยเฉลี่ยเราจะทำงานกันปีละ 2 แสนชั่วโมง และมีเวลาพักผ่อนมากถึง 4 แสนชั่วโมง
แต่ว่าในซีรีส์เรื่องนี้มีพนักงานคนหนึ่งที่ค่อนข้างทำงานหนักเช่นกันค่ะ ไม่ใช่แค่เลิกดึก แต่นอนที่ออฟฟิศเลยทีเดียว แน่นอนว่าพฤติกรรมแบบนี้ แม้บริษัทจะชื่นชอบคนขยันทำงาน แต่ทำทั้งวันทั้งคืนคงไม่ดี ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ได้ทำให้เราได้กลับมาขบคิดว่า จริงๆ แล้ว เราอยากจะมีเวลาให้ตัวเอง 4 แสนชั่วโมง หรือจะทำงานอย่างเอาเป็นเอาตายถึง 4 แสนชั่วโมง แต่มีเวลาให้กับตัวเองได้ใช้ชีวิตแค่ 2 แสนชั่วโมงกัน
เลิกงานตรงเวลา แต่ไม่ใช่ว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
เหตุผลแรกที่คนจะมองคนที่เลิกงานตรงเวลา ไม่ยอมอยู่ดึกก็คือ เป็นคนไม่เต็มที่กับงาน ทำงานได้ไม่ดี แต่เอาเข้าจริงแล้วซีรีส์เรื่องนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า การเลิกงานตรงเวลาไม่ได้เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานอย่างที่เข้าใจกัน แต่คนที่สามารถเลิกงานได้ในเวลาที่กำหนด แสดงว่าน่าจะมีการบริหารจัดการเวลาที่สมบูรณ์แบบ เลยจัดการทุกอย่างได้ภายในเวลางาน เหมือนกับ “ยุย” นางเอกของเรื่อง แม้เธอจะเลิกงาน 6 โมงตรงทุกวันแต่ไม่เคยมีงานค้างเลย
ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ก็มีการเผยเคล็ดลับเล็กๆ น้อยด้วยว่า ถ้าเราอยากทำงานให้เสร็จทันเวลาและงานก็ดีด้วยเนี่ย เราควรที่จะวางเป้าหมาย ทำ To do List และต้องกำหนดระยะเวลาของงานแต่ละชิ้นด้วย เพื่อไม่มีวินาทีที่เลยผ่านเสียประโยชน์โดยเปล่า หรือแม้กระทั่งการจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลางมหาของยังไงล่ะ ด้วยความที่ยุยทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ในเวลางาน เลยทำให้ไม่มีวันไหนเลยที่ต้องอยู่ทำงานจนดึกดื่นหรืออดหลับอดนอน
“การเลิกงานตรงเวลา ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะไม่มีผลงาน”
แต่การทำงานหนัก ก็ไม่ได้หมายความจัดการเวลาไม่ดี
แม้การบริหารเวลาที่ดีจะช่วยให้เราทำงานเสร็จเร็ว ไม่ต้องทำงานล่วงเวลา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ทำงานหนักเป็นคนนที่จัดการเวลาไม่ดีนะคะ ในซีรีส์ก็มีตัวละครขั้วตรงข้ามกับยุยก็คือ “ทาเนดะ” ที่อยู่ในตำแหน่งระดับหัวหน้าฝ่าย เข้างานตรงเวลา แต่เลิกงานทีหลังเพื่อน เคยทำงานหนักจนล้มหมอนนอนเสื่อมาแล้ว และสไตล์การทำงานของเขานี่เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องเลิกรากับยุย แต่ซีรีส์ก็ได้เผยมุมของทาเนดะ คนที่ทำงานหนักว่า มันอาจจะไม่ใช่เรื่องของการบริหารเวลา หรือความสุดโต่งบ้างานจนเกินไป
แต่เขาอาจจะมองว่า “งาน” เป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในชีวิตนี้ และพึงพอใจที่จะอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับสิ่งนี้ และด้วยภาระหน้าที่ มีความรับผิดชอบมากมาย รวมถึงบางสถานการณ์ก็มีเรื่องด่วน เคสเข้าจากลูกค้า ในฐานะหัวหน้าทีม เขาเองก็จำเป็นต้องสแตนด์บายตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อองค์กร รวมถึงเป้าหมายในสายงานอาชีพที่จำเป็นต้องใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตไปกับงาน แต่ถึงอย่างนั้นทาเนดะ ก็แอบรู้สึกลึกๆ ว่า เขาเองก็อยากจะมีเวลาให้ตัวเอง และได้อยู่กับคนที่เขารัก อย่างเช่น ยุย…
“จะไปมีประโยชน์อะไรถ้าตายไป”
แท้จริงแล้ว “ยุย” ก็เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ “ฉันทำโอทีมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน ไม่มีวันหยุด” และหลังจากนั้นไม่นานเพียง 6 เดือน เธอก็เป็นลม ตกบันไดที่ออฟฟิศ จนหมดสติ ต้องหามเข้าโรงพยาบาล มีอาการโคม่า แต่ด้วยความโชคดี เธอจึงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
แต่การกลับมาครั้งนี้ เธอตั้งใจที่จะเปลี่ยนสไตล์การทำงานโดยสิ้นเชิง ที่ตั้งมั่นไว้แล้วว่า จะทำงานให้พอเหมาะ เลิกงานตรงเวลา เป้าหมายของเธออาจะไม่ได้ยิ่งใหญ่มาก เพียงแค่อยากเลิกงานตรงเวลา ดื่มเบียร์ ดูละคร ใช้เวลากับคนที่รัก แต่สิ่งนี้ทำให้ชีวิตของเธอมีความสุขที่สุด “จะไปมีประโยชน์อะไรถ้าตายไป” เป็นประโยคหนึ่งที่ยุยพูดกับเพื่อนร่วมงาน และทำให้เขาคนนั้นได้สติคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับ “ชีวิต”
บอกความในใจอย่างตรงไปตรงมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเรื่องการทำงาน (ในญี่ปุ่น) ก็มีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่บางอย่างก็ดูเหมือนเป็นวัฒธรรมขององค์กรที่ยากเข้าไปเปลี่ยนแปลง ต่อให้มีเป้าหมายชีวิตแบบ “ยุย” มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำได้ ถ้าคนในองค์กรไม่ได้คิดแบบนี้ แต่ในเรื่องนี้ แม้องค์กรจะมีวัฒนธรรมไม่สนับสนุนให้พนักงานทำโอที แต่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ของยุยก็มักจะทำงานหามรุ่งหามค่ำกัน แต่เธอก็ไม่ได้สนใจอะไรมากกว่าไปกว่าจุดมุ่งหมายของตัวเอง และมันไม่น่ามีปัญหาอะไร ถ้างานที่ทำในเสร็จสมบูรณ์ ได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน และไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร
แล้วตัวละครตัวอื่นๆ ล่ะ? แน่นอนค่ะว่า ไม่ค่อยมีใครกล้าทำแบบยุยกันสักเท่าไหร่ และละครก็ค่อยๆ เผยให้เห็นจุดหนึ่งว่า หรือบางทีปัญหาต้องอยู่ทำงานดึกทั้งๆ ที่ใจไม่อยากเลย มันอาจมาจากตัวเราเองก็ได้นะ เพราะแทบจะไม่มีใครกล้าพูดตรงๆ เลยว่า ต้องการอะไร ก็แน่ล่ะ ขืนบอกไปก็อาจสร้างความไม่พอใจก็ได้ใช่ไหมคะ
แต่ “ยุย” ก็ทำให้ฉุกคิดขึ้นว่า บางเรื่องเราก็อาจจะคิดไปเอง อย่าเพิ่งด่วยสรุปถ้ายังไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ ถ้าเราไม่บอกความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา แล้วคนอื่นจะเข้าใจเราได้อย่างไร ถ้าเราเห็นว่า สิ่งที่เรากำลังทำมันสามารถเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงาน องค์กร และสังคม ไม่น่าผิดอะไร ที่เราจะเริ่มส่งเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในวิธีที่เหมาะสม เหมือนดังเช่นยุย ที่ตอนนี้เพื่อนร่วมงาน และรุ่นน้องของเธอเกินกว่าครึ่ง ไม่ต้องอดทนทำงานหนักเกินกว่าความจำเป็น
“เราสนับสนุนคนให้ตรงต่อเวลา เราก็ควรตรงต่อเวลากับเวลาเลิกงานด้วยไม่ใช่เหรอ”
สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ สะท้อนมุมมองของคนทำงานได้ในหลายแง่มุม ที่ไม่ใช่แค่คนอยากกลับตรงเวลา แต่รวมถึงคนที่ทำงานเลยเวลาว่า อะไรที่ทำให้เขาเลือกเช่นนั้น นั่นก็อาจเป็นเพราะแต่ละคนมีเป้าหมายในชีวิตที่ต่างกัน และมีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน
แล้วคุณล่ะเป็นคนทำงานสายไหน หากยังไม่มีคำตอบในใจ ลองค้นหาตัวตนและเป้าหมายชีวิตการทำงานได้ที่ซีรีส์เรื่อง Watashi, Teiji de Kaerimasu ได้เลยยย
สามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับละครญี่ปุ่น และพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ทาง FB: Sakura Dramas
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– Hanzawa Naoki ภาค 2 มันส์ขึ้น 2 เท่า
– 5 อันดับซีรีส์ญี่ปุ่นเรตติ้งสูงสุดในช่วง COVID-19
– รีวิวซีรีส์ญี่ปุ่น Queen ทีมทนายความรับจัดการข่าวฉาว
– 5 ซีรีส์ญี่ปุ่นลึกลับ ระทึกขวัญ แบบไม่นองเลือด
– Review ซีรีส์ญี่ปุ่น Kyojo ครูโหดกับนักเรียนที่หายไป
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
– ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Watashi, Teiji de Kaerimasu
– http://asianwiki.com
– https://www.tokyohive.com
– https://www.dailyshincho.jp
#Watashi, Teiji de Kaerimasu