Like Father Like Son หลายคนบอกว่าอยากดูเรื่องนี้ แต่กลัวร้องไห้โฮ ดิฉันบอกได้เลยว่าสำหรับหญิงน้ำตาตื้นอย่างดิฉัน เรื่องนี้น้ำตาแค่ซึมๆ และไหลลงมานิดหน่อย ยังไม่สาหัสมากค่ะ
(เพื่อสุนทรียภาพในการอ่านรีวิว ลองคลิก Official Site ของhttp://soshitechichininaru.gaga.ne.jp/ ปิดคลิปยูทู้บพรีวิวหนัง จะมีเพลงเปียโนเป็น BGM เพราะๆค่ะ)
หนังเรื่องนี้ ชื่อเรื่องภาษาญี่ปุ่นคือ そして父になる (Soshite Chichi ni naru) ใครเรียนมินนาโนะนิฮงโกะเล่มแรก ก็น่าจะพออ่านชื่อหนังได้แล้วค่ะ ถ้าแปลตรงตัว จะแปลว่า “Then, I became a father” ซึ่งพอหนังจบ ดิฉันก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า ทำไมถึงตั้งชื่อเรื่องนี้ แต่ชื่อภาษาอังกฤษ “Like Father, Like Son (ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น)” น่าจะแปลแล้วได้ความหมายมากกว่า
หลายคนบอกว่า อยากดูเรื่องนี้ แต่กลัวร้องไห้โฮ ดิฉันบอกได้เลยว่า สำหรับหญิงน้ำตาตื้นอย่างดิฉัน เรื่องนี้น้ำตาแค่ซึมๆและไหลลงมานิดหน่อย ยังไม่สาหัสมากค่ะ
เรื่องราวเริ่มจากครอบครัว 2 ครอบครัวที่ฐานะทางการเงิน อาชีพ วิธีการเลี้ยงลูกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ต่างเลี้ยงลูกชายกันมา 6 ปี แล้วเพิ่งมาทราบทีหลังว่า ลูกแท้ๆ ของตัวเองถูกสลับไปอยู่อีกครอบครัวหนึ่ง หากเป็นคุณ คุณจะเลือกเลี้ยงลูกที่รู้แก่ใจว่าไม่ใช่ลูกตัวเองต่อไป หรือจะเลือกนำลูกที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ มาเลี้ยงคะ
ดิฉันขออนุญาตเฉลยเนื้อหาในหนังไปเลยว่า…
ทั้ง 2 ครอบครัวนี้ เลือกที่จะ “ลอง” นำลูกที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่แท้จริงมาเลี้ยงค่ะ ซึ่งนี่ไม่ใช่ฉากจบ แต่เป็นช่วงเริ่มกลางเรื่อง และเนื้อหาหนังจะค่อยๆ เข้มข้นขึ้นจากจุดนี้ สิ่งที่ยากคือ การที่พ่อแม่ของแต่ละครอบครัว ต้องปรับเข้าหาลูกแท้ๆ ของตัวเองซึ่งถูกเลี้ยงดูกันมาคนละแบบโดยสิ้นเชิงเลย
ขอพูดถึงครอบครัวแรกก่อน ได้แก่ ครอบครัวโนโนมิยะ ซึ่งเป็นครอบครัวของพระเอกเรา นายเรียวตะ โนโนมิยะ (นำแสดงโดยฟุกุยาม่า มาซาฮารุ) พนักงานบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ มีพื้นฐานครอบครัวดี เงินเดือนดี ฉลาด ทำงานเก่ง และที่สำคัญที่สุดคือ หน้าตาดี (ความเห็น+ความชอบส่วนตัวดิฉัน) เรียวตะ ภรรยา และลูก อาศัยอยู่ในคอนโดไฮโซ
เรียวตะเป็นพ่อที่เข้มงวดมาก บังคับให้ลูกซ้อมเปียโนทุกวัน และให้ลูกพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เช่น ให้ไปเข้าห้องน้ำคนเดียว ให้ไปซื้อของคนเดียว ด้วยความที่เป็นยอดมนุษย์เงินเดือน เรียวตะจะหมกมุ่นอยู่กับงาน โดยภาระการดูแลลูกส่วนใหญ่จะตกอยู่กับภรรยา หนูน้อยเคตะ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของบ้านโนโนมิยะ เลยออกจะเป็นเด็กที่เรียบร้อย อยู่ในกรอบ ถูกเลี้ยงดูมาแบบมดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอมค่ะ
ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง ชื่อครอบครัวไซขิ แตกต่างจากครอบครัวโนโนมิยะอย่างสิ้นเชิง คุณพ่อยูได ไซชิ (แสดงโดย ลิลี่ แฟรงกี้…ชื่อจริงๆ คือ นายนาคากาว่า มาซายะ คนญี่ปุ่นแท้ๆ ค่ะ) ดูแลร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเล็กๆ โทรมๆ ขนาดพระเอกยังอุทานตอนมาเห็นร้านว่า “อุบ๊ะ จะให้ลูกเรามาอยู่ที่นี่น่ะหรือ” …
บ้านไซขิมีสมาชิก 5 คน ได้แก่ พ่อแม่ และลูกอีก 3 คน ลูกชายแท้ๆ ของเรียวตะเป็นลูกชายคนโตของบ้านนี้ คุณพ่อยูไดเล่นเฮฮากับเด็กๆ คอยซ่อมของเล่นให้ อาบน้ำให้ลูกๆ ทำว่าวให้ลูกๆ เล่น เป็นครอบครัวที่เอะอะเฮฮามะเทิ่งมาก ทำให้ลูกชาย ริวเซ เป็นเด็กแก่น ร่าเริง มีความเป็นผู้นำเหลือล้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เด็กร่าเริงอย่างริวเซถูกส่งไปบ้านโนโนมิยะที่เข้มงวด ส่วนหนูเคตะ ที่อยู่ในกรอบมาตลอด ก็ยิ้มแบบเขินๆ เวลามาอยู่บ้านเฮฮาก๋ากั่นอย่างบ้านไซขิ ซึ่งหนังจะค่อยๆ ชี้ให้เห็นปมปัญหา การปรับตัวของพ่อแม่และเด็ก ปมในวัยเด็กของพระเอก ผ่านการเล่าเรื่องอย่างเป็นธรรมชาติที่สวยงามค่ะ
ชื่อหนัง そして父になる (Soshite Chichi ni naru) ที่แปลว่า “ฉันจะเป็นพ่อ” คงจะหมายถึงการก้าวข้ามความทุกข์ที่ต้องสลับลูกของเรียวตะ ซึ่งค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัว และพยายามเป็นพ่อที่ดีของลูกนั่นเองค่ะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นพ่อ แต่ก็แปลก ที่พอดูหนังจบ ดิฉันรู้สึกอยากเป็นแม่ หนังอบอุ่นมากๆ ดูแล้วดิฉันรู้สึกอยากมีครอบครัว อยากมีเลือดเนื้อเชื้อไข อยากทุ่มเทความรักของเราให้ใครสักคน ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมา ตัวเองไม่เคยคิดเรื่องการมีชีวิตคู่หรือเรื่องลูกมาก่อนเลย
หนังเรื่องนี้เป็นหนังญี่ปุ่นที่เข้าใจง่าย เนื้อหาซึ้งและกินใจ เป็นหนังญี่ปุ่นอีกเรื่องที่แนะนำให้ไปดูกันเยอะๆ เลยจ้ะ ☺ กำหนดเข้าฉายในไทย 5 ธันวาคม 2556 นี้ (วันพ่อซะด้วย) เฉพาะโรงภาพยนตร์ LIDO สยามและโรงหนัง House RCA เท่านั้นค่ะ
*ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง LIKE FATHER, LIKE SON
เริ่มเข้าฉายวันที่ 5 ธ.ค. ที่ LIDO สยาม, SFW เซ็นทรัลเวิร์ล
เริ่มเข้าฉายวันที่ 9 ธ.ค. ที่ HOUSE พระรามเก้าอาร์ซีเอ
(แถม)
ตัวละครที่เกตุวดีชอบ
คุณพ่อยูได ชอบผู้ชายรักเด็กและมีอารมณ์ขัน ความฮาของลุงเอาชนะความหล่อของเรียวตะไปได้
ประโยคกระแทกใจ
ตอนที่ยูได (คุณพ่อบ้านเฮฮา) บอกเรียวตะ (พระเอก) ว่า “ลูกยังเล็ก คุณควรให้เวลากับลูกมากกว่านี้นะ อย่ามัวแต่ทำงาน” เรียวตะตอบว่า “งานที่ผมทำอยู่น่ะ เป็นงานสำคัญมาก ไม่มีใครทำแทนผมได้หรอก”
ยูไดตอบกลับมาว่า “งานในการเป็นพ่อก็ (สำคัญและ) ไม่มีใครมาทำแทนได้เหมือนกัน”
ฉากที่สะเทือนใจ
ฉากที่ภรรยาเรียวตะบอกกับเรียวตะว่า “ฉันรู้สึกเริ่มรักริวเซ (ลูกบ้านไซขิ) ขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันแล้วล่ะ รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังหักหลังเคตะ (ลูกชายที่เลี้ยงมา) เลย” แล้วก็ฟุบหน้าร้องไห้ตรงระเบียง
ฉากที่ชอบเป็นพิเศษ
ฉากที่ทางโรงพยาบาลพา 2 ครอบครัวไปเลี้ยงที่ภัตตาคารปูสุดหรู ขณะที่ผู้อำนวยการและทั้งสองครอบครัวกำลังนั่งซีเรียสเพื่อคุยเรื่องจะสลับลูกยังไง เด็กๆ บ้านไซขิวิ่งเข้ามาแล้วใช้ก้ามปูแทนปืน ยิงกราดทุกคนในโต๊ะ … และทุกคนในโต๊ะ ยกเว้นเรียวตะกับภรรยา ทำท่าโดนยิงแล้วล้มตายคาเก้าอี้ … ขำดี
ฉากงงๆ แต่พยายามหาคำตอบจนเหมือนจะเข้าใจ
ฉากที่พระเอกคุยกับเจ้าหน้าที่ในป่าเรื่องจักจั่น เจ้าหน้าที่บอกว่า จักจั่นใช้เวลา 15 ปีเป็นตัวอ่อนอยู่ในดิน ก่อนจะค่อยๆ ไต่ขึ้นมาเกาะต้นไม้ พระเอกอุทานว่า “ตั้ง 15 ปีเลยเหรอครับ” เจ้าหน้าที่ตอบกลับว่า “นานเหรอครับ?”
ไม่เข้าใจเลยว่าฉากนี้ต้องการสื่ออะไร ก็พยายามเสิร์ชๆ ดู มีคนญี่ปุ่นวิเคราะห์ไว้หลายแบบ แต่เลือกแบบที่ตัวเองเห็นด้วยค่ะ คือ เรียวตะอาจรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นตอนที่ได้ยินประโยคนี้ แม้ตอนนี้ตัวเองยังเข้ากับริวเซ ลูกชายแท้ๆ ของตนยังไม่ได้ แต่ระยะเวลาคงจะค่อยๆ ฟูมฟักและทำให้เด็กคนนี้เติบโตได้ภายใต้การดูแลของตนแหล่ะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– รีวิว ภาพยนตร์ญี่ปุ่น LIKE FATHER, LIKE SON
– บทสัมภาษณ์ ฟุคุยามะ มาซาฮารุ นักแสดงนำหนังรางวัล LIKE FATHER, LIKE SON
– รีวิวภาพยนตร์ญี่ปุ่น “โอชิน”
– อุเอโนะ จูริ เล่าถึงมัตสึจุน และหนังรักสุดประทับใจเรื่อง Hidamari no Kanojo
– สงสัยกันมั้ย “ไคจู” คือตัวอะไรในหนังญี่ปุ่น
#like father like son