[Review] Alice in Borderland ความหมายชีวิตในแดนมรณะ
สิ้นสุดการรอคอยกับ Alice in Borderland Season 2 ที่กลับมาพร้อมความยิ่งใหญ่ให้พวกเราได้หายคิดถึง และร่วมกันผจญภัยเดินทางหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ในเกมมรณะ หลังจากที่ฉายทาง Netflix ก็มีผู้คนพูดถึงซีรีส์กันเป็นจำนวนมาก วันนี้เลยขอมารีวิวซีรีส์เรื่องนี้ ถึงมุมมองที่น่าสนใจกันค่ะ
Alice in Borderland อลิซในแดนมรณะ
เรื่องราวของอาริสุ (รับบทโดย เคนโตะ ยามาซากิ) หนุ่มว่างงานที่ในแต่ละวันนั่งเล่นแต่เกม ถ้าเซ็งๆ ก็จะออกมาพูดคุยและไปเที่ยวเล่นกับ “คารุเบะ” (รับบทโดย เคตะ มาจิดะ) และ “โจตะ” (รับบทโดย ยูกิ โมรินากะ) เพื่อนสนิทของเขานั่นเอง ชีวิตที่ดูแสนจะธรรมดา (ปนสิ้นหวังนิดๆ) ก็ต้องมาเจอกับจุด วันหนึ่งอาริสุ คารุเบะ และโชตะ ชวนกันออกมาข้างนอด แล้วตัดสินใจทำอะไรสนุกๆ ด้วยการเดินเล่นป่วนใจกลางเมืองชิบุยะอย่างสนุกสนาน และในขณะที่พวกเขาวิ่งหนีตำรวจเข้าไปซ่อนในห้องน้ำ ก็พบว่าอยู่ดีๆ ไฟในห้องน้ำก็ดับ
พอไฟติดแล้ว แล้วเดินออกมาข้างนอกก็พบว่า จากชิบุยะที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน ก็กลายเป็นเมืองร้างทันที! หลังจากนั้นพวกเขาก็เห็นแสงสว่างจากตึกๆ หนึ่ง พอเดินเข้าไปก็พบกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องมาร่วมเล่น “เกมมรณะ” ด้วยกัน! ใครชนะจะมีชีวิต ส่วนใครแพ้ก็ต้องตาย ทำให้อาริสุต้องต่อสู้กับเกมอันตรายที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย พร้อมหาคำตอบของเบื้องหลังเกมนี้ พร้อมหาทางรอดกลับสู่โลกจริงให้ได้ แต่ดูเหมือนกับว่า…เกมนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เกมนี้ไม่ได้ปราณีใคร เขาต้องสูญเสียคนสำคัญมากมายไประหว่างทาง รวมถึงคารุเบะและโจตะ เพื่อนสนิทคนสำคัญของเขาด้วย อารุสิเลยตัดสินใจเดินเกมต่อไป เพื่อไม่ให้การจากไปของเพื่อนทั้งสองต้องสูญเปล่า และเพื่อค้นหาความจริงของเกมนี้ให้ได้
และหลังจากเคลียร์เกมตามจำนวนเลขไพ่ได้จนครบแล้ว เขาและเพื่อนในทีมที่ร่วมชะตากรรมมาด้วยกันอย่าง อุซางิ (รับบทโดย ทาโอะ ทสึจิยะ), คุอินะ (รับบทโดย อายะ อาซาฮินะ), อัน (รับบทโดย อายากะ มิโยชิ), และจิชิยะ (รับบทโดย นิจิโร่ มูราคามิ) ก็ได้พบว่าเกมไม่ได้จบแค่นี้
และเกมด่านใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยเป็นเกมหน้าไพ่ มีเจ้าของเกมประจำอยู่ในแต่ละด่าน การเคลียร์เกมก็คือ ต้องโค่นเจ้าของเกมให้ได้ แต่คนชนะจนถึงด่านสุดท้ายจะได้กลับไปโลกจริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ จนกว่าจะเดินไปถึงด่านนั้นจริงๆ เท่านั้น…
สิ่งที่น่าสนใจ มีอะไรใน Borderland จนใครๆ ก็ต้องดู
1. เปิดเรื่องมาด้วยความเดือดขั้นสุด
เปิดเรื่องมาก็สะกดคนดูได้ทันที ด้วยการเปิดตัวของคิงส์โพดำ เนื้อเรื่องภาค 2 ดำเนินเรื่องต่อจากตอนจบของภาคแรกทันที ในระหว่างที่ตัวละครทุกคนกำลังยืนอยู่ท่ามกลางความเงียบงัน ไม่รู้ความต่อจากนี้คือเกมอะไร มีกติกาอะไร แต่ความเงียบก็อยู่ไม่นาน เสียงปืนได้ดังขึ้นรัวๆ ผู้คนวิ่งหนีตายกันอย่างอลม่าน คิงส์โพดำได้ปรากฏตัวด้วยการกราดยิงผู้คน เหล่าผู้เล่นต้องวิ่งหนีตายเพื่อเอาชีวิตให้รอด แต่ดูทรงแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะรอดด้วยการวิ่งหนีเฉยๆ ได้อย่างไร
แต่ก็เริ่มมีความหวังมากขึ้น เมื่อ “หมออัน” ขอฮึดสู้สุดชีวิต ด้วยการขับรถพาซิ่ง เหยียบคันเร่งหนีลูกกระสุนปืนไรเฟิล ที่ขนาดคิงส์โพดำก็ยังขับตามไม่ทัน และเกมมรณะก็ได้เริ่มต้นอีกครั้งด้วยการเปิดของคิงส์โพดำ ที่วิ่งไล่ต้อนให้พวกเขาไปสู่ในด่านถัดๆ ไป
2. ความเข้มข้นของเกม
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนดูอยากดูต่อไปเรื่อยๆ จนลุกไปไหนไม่ได้เลยก็คือ ความเข้มข้นของเกม ที่ชวนให้เราติดตามว่าท้ายที่สุดแล้ว เกมจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้ชนะ รวมถึงความท้าทายของกติกาเกม ที่ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หน้าตาเกมจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าเล่นจริงๆ
อย่างเช่น เกมในด่านเรือนจำ ที่มีตัวเอกอย่าง “จิชิยะ” เป็นหนึ่งในผู้เล่นเกม กติกาของเกมคือ ให้ผู้เล่นทุกคนทายหน้าไพ่ที่ปรากฏอยู่ด้านหลังปลอกคอของตัวเอง ใครท้ายถูกรอด ใครทายผิดก็แพ้ไป (หรือตายนั่นเอง) และท่ามกลางผู้เล่น มีแจ็กโพธิ์แดงอยู่ เกมจะเคลียร์ได้ก็ต่อเมื่อมีใครสักคนฆ่าแจ็กโพธิ์แดงได้ ความยากก็คือ แต่ละคนไม่มีทางรู้ได้ค่ะว่า ไพ่บนปลอกคอของตัวเองคือไพ่หน้าอะไร เพราะว่าไพ่จะปรากฏที่ปลอกคอด้านหลังของเรา จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อให้เพื่อนในเกมเป็นคนบอก แต่…ในสถานการณ์แบบนี้ จะแน่ใจได้ยังไงว่า เพื่อนเราจะไม่โกหก และถ้าคนที่เราถามคือแจ็กโพธิ์แดงซะเองล่ะ…
เรียกได้ว่าเกมใน Alice in Borderland มีความเข้มข้นชวนให้ดูตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งความเข้มข้นก็ขึ้นอยู่กับกติกาของแต่ละเกม แม้ว่าในซีรีส์จะตัดรายละเอียดในมังงะไปค่อนข้างเยอะ บางเกมถูกพูดถึงเฉยๆ แต่ไม่ได้ฉายเนื้อหาเกม แต่ก็ถือว่าได้ว่าเป็นจุดเด่นที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้น่าดูและน่าติดตามค่ะ
3. ข้อคิดชีวิตที่ได้จากแต่ละเกม
เกมในดินแดนมรณะ ไม่ใช่แค่เล่นเพื่อความสนุกและจบไป ถ้าเราสังเกตดีๆ จะพบว่า ในแต่ละตอนต่างแฝงข้อคิดสำคัญไว้อยู่เสมอ ผ่านคำพูดของตัวละครในช่วงเวลาความเป็นและความตาย รูปแบบเกมที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ และเกมแต่ละเกมมักทิ้งข้อคิดบางอย่างไว้เสมอ เช่น เกมที่สองของซีรีส์ ที่เป็นด่านของคิวมะ (ตัวละครที่หลายต่างเฝ้ารอดู…) ที่แฝงเรื่องความเท่าเทียม มิตรภาพ การทำงานเป็นทีม (เป็นด่านไพ่ดอกจิกที่เน้นเรื่องการเล่นเป็นทีม) หรือด่านเกมตาชั่ง ที่สะท้อนมุมคิดในเรื่องความยุติธรรมในสังคมได้เป็นอย่างดี และไม่ว่าเกมไหนๆ ต่างก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้เล่นแต่ละคนต่างก็สู้สุดใจเพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” ไว้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เล่นแต่ละคนมีไม่เท่ากัน อาจไม่ใช่แค่ทักษะ ความสามารถ แต่เป็นเรื่องของ “ใจ” ว่าพร้อมจะสู้แค่ไหนกับเกมที่สุดหิน เหมือนกับชีวิตของคนเรา จะรอดหรือจะร่วง บางทีก็อยู่ที่ความแข็งแกร่งของจิตใจ
4. ปริศนาในดินแดนมรณะที่ค่อยๆ เผยปมตลอดทั้งเรื่อง
จากเรื่องราวในภาคที่ 1 ก็ทิ้งปริศนาไว้ให้ชวนคิดว่า เบื้องหลังของเกมเอาชีวิตในดินแดนมรณะนี้คืออะไร ใครกันแน่คือผู้บงการเกม และท้ายที่สุดคนที่รอดชีวิตจะมีโอกาสได้กลับไปโลกจริงหรือไม่ ปริศนาเหล่านี้ค่อยคลี่คลายในภาคที่ 2 แต่ไม่ได้เฉลยที่เดียว แต่ค่อยๆ ทิ้งเบาะแสไปตลอดทั้งเรื่อง ให้ทั้งตัวละคร และคนดูค่อยๆ คิดต่อว่า แท้จริงแล้วความลับที่อยู่เบื้องหลังของเกมนี้คืออะไร ตอนจบอาจจะดูเกินกว่าที่คาด แต่พอย้อนกลับไปดูคำพูดของเจ้าของเกมด่านไพ่หน้าคน หรือฉากที่ซีรีส์เหมือนจะเฉลย แต่ก็ตัดภาพกลับมาก่อน (อย่างเช่น ฉากที่สาวเฮย์ยะ หรือน้องธนูกำลังแหงนมองขึ้นฟ้า แล้วเหมือนเจออะไรบางอย่าง) ก็ค่อนข้างมีความเชื่อมโยงกัน และค่อนข้างเคลียร์ถึงที่มาที่ไปของเกมนี้
5. คำตอบของความหมายชีวิตในแดนมรณะ
ซีรีส์เรื่องนี้เต็มไปด้วยความสูญเสีย ความพลัดพราก แต่กลับทำให้เรารู้ซึ้งถึงความหมายของชีวิตและการมีชีวิตต่อได้เป็นอย่างดี คำถามที่อาริสุค่อยเฝ้าถามมาตลอดว่า ถ้าเคลียร์เกมหมดแล้วจะได้กลับโลกจริงไหม มันก็ไม่ต่างอะไรกับคำถามของมนุษย์ที่ต่างเคยถามกันว่า “เรามีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร” เกมมรณะที่เหมือนกับว่าพอเล่นจบ ก็ต้องมาเริ่มเกมใหม่อยู่ดี เหมือนกับชีวิต พอผ่านเรื่องลำบาก ก็ต้องมาเจอความลำบากที่เหมือนเป็นด่านเกมใหม่ และถ้าชีวิตของคนเราเหมือนวัฏสงสารที่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ เราจะใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร
ซึ่งในเรื่อง Alice in Borderland ได้สะท้อนให้เห็นถึงแก่นของชีวิตในมุมของ “ความหมายของชีวิต” เจ้าของเกมหน้าไพ่ไม่ได้ตอบคำถามของอาริสุอย่างตรงไปตรงมา นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า เรื่องของความหมายของชีวิต เป้าหมายของชีวิตของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ต้องให้เจ้าของชีวิตได้สัมผัสด้วยตัวเอง และตัดสินใจเลือกเองย่อมดีกว่า เหตุผลของชีวิตไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องตามแบบฉบับใคร
ท้ายที่สุดแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ไม่มีใครรู้ สิ่งที่รู้ได้เท่านั้นคือ “ปัจจุบัน” หรือทำในสิ่งที่อยากทำมากที่สุด เพื่อไม่ให้ย้อนกลับมาแล้วรู้สึกต้องเสียดาย และไม่ให้ตัวเราในอนาคตต้องเสียใจ การดิ้นรนต่อสู้ของผู้เล่นใน Borderland ก็เหมือนก็ต่อสู้เพื่อชีวิตของเรา ที่ทำให้เห็นว่าแต่ละชีวิตนั้นมีคุณค่าในแบบตัวเอง
Alice in Borderland นับว่าเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่สะท้อนถึงคุณค่าของชีวิตไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ระหว่างทางจะดูเหมือนสิ้นหวัง แต่ท้ายที่สุดกลับฉายแสงแห่งความหวัง ที่ทำให้เราต่างเข้าใจมากขึ้นว่า ชีวิตนั้นมีคุณค่า
“จากที่เคยใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่ามาโดยตลอด
ก็ถึงเวลาที่จะใช้มันอย่างคุ้มค่าสักที”
สามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับละครญี่ปุ่น และพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ทาง FB: Sakura Dramas
เรื่องแนะนำ :
– เหตุผล ที่ใครๆ ก็ตกหลุมรัก First Love ที่ชวนให้กลับไปคิดถึงรักแรกอีกครั้ง
– แนะนำ 5 ซีรีส์ญี่ปุ่น สำหรับคนไม่มีเวลา ตอนละไม่เกิน 30 นาที
– Hotaru no Hikari เมื่อย้อนเวลากลับไปดูอีกครั้ง
– รีวิวซีรีส์ญี่ปุ่นแนว Start-up: Unicorn ni Notte
– No Passion ซีรีส์ญี่ปุ่น แม้ไม่ได้ทำงานที่ฝัน แต่ก็หลงรักงานที่ทำระหว่างทาง
ขอขอบคุณภาพจาก
– ซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Alic in Borderland ทาง Netflix
[Review] Alice in Borderland ความหมายชีวิตในแดนมรณะ