ถ้าพูดถึงซีรี่ส์ญี่ปุ่น …มันก็ย่อมแฝงไปด้วยความไม่ธรรมดาตามสไตล์ของพี่ยุ่นเขา อะไรคือเสน่ห์ของซีรี่ส์ญี่ปุ่น ไปดูกันเลยดีกว่าาา!!!
สืบเนื่องมาจากกระทู้ฮิต (หรือเปล่า) ในเว็บ Pantip ที่ดิฉันได้เคยไปเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับซีรี่ส์ญี่ปุ่น วันนี้ก็เลยอยากหยิบยกมาเล่าให้เพื่อนๆ ใน Marumura ได้อ่านกันบ้างงง ถ้าพูดถึงซีรี่ส์ญี่ปุ่น มันก็ย่อมแฝงไปด้วยความไม่ธรรมดาตามสไตล์ของพี่ยุ่นเขา อะไรคือเสน่ห์ของซีรี่ส์ญี่ปุ่น ไปดูกันเลยดีกว่าาา!!!
พระเอกหน้าตาไม่หล่อ
อีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนตัดสินใจเมินซีรี่ส์ญี่ปุ่นไปคือหน้าตาของพระเอก ญี่ปุ่นที่แสนจะธรรมด๊า ธรรมดาที่ไม่ค่อยจะถูกใจสาวๆ ชาวไทยกันสักเท่าไร แต่รู้ไหมว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งเลยนะ
ประเด็นนี้มันก็มีที่มาที่ไปอยู่นะ เหตุผลที่พระเอกหน้าตาไม่หล่ออาจเป็นเพราะ
1. มันอาจเป็นสไตล์ รูปแบบโฉมหน้าที่สาวๆ ญี่ปุ่นชอบกัน (ก็ซีรี่ส์ญี่ปุ่นหนิ ก็ต้องเอาใจสาวญี่ปุ่นก่อนเป็นอันดับแรก)
2. วงการซีรี่ส์ญี่ปุ่นให้ความสำคัญที่ฝีมือมากกว่าหน้าตา เรามีความรู้สึกว่าการแคสติ้งจะคัดเลือกโดยดูความเหมาะสมว่า คนนี้เหมาะกับบทแบบนี้ไหม จะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ดีหรือเปล่า ซึ่งไม่ใช่การคัดเลือกที่ “หน้าตา” เป็นหลัก บางทีเราก็จะเห็นว่าพระเอกบางเรื่องก็มีอายุเยอะ นักแสดงอายุ 40 ยังเป็นพระเอกกันได้เลย เพราะบทมันเป็นแบบนั้น ก็ต้องหานักแสดงที่วัยใกล้เคียงกับตัวละครในบท และสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนดูซีรี่ส์ญี่ปุ่นรู้สึกได้ก็คือ “ตอนแรกพระเอกมันไม่หล่อ แต่ทำไมหลังๆ มันหล่อขึ้นว่ะ!” ที่เรารู้สึกแบบนี้ก็เพราะว่า นักแสดงเขาตีบทแตก เข้าถึงบทบาท เรากำลังอินไปกับคาแร็คเตอร์ของเขาที่ไปเสริมให้ตัวนักแสดงคนนั้นดูมีเสน่ห์ หรือ “เท่” ขึ้นมา
สังเกตได้จากเรื่อง “Death Note” เรื่องที่กรี๊ดกันทั้งบ้านทั้งเมื่อง พระเอกก็ไม่ได้หล่อเท่าไรหรอก คนละแนวกับหนุ่มหล่อเกาหลีที่สาวไทยคลั่งไคล้กันด้วยซ้ำแต่เพียงแค่ทุกก้าว ที่เดิน ทุกอย่างที่ทำมันเท่บาดใจเหลือเกิ๊นนนนนน!!! ไม่มีใครที่เรียกพระเอกคนนี้ว่า Matsuyama Kenichi (มัตทสึยาม่า เคนอิจิ) ซึ่งเป็นชื่อจริงของเขาแต่กลายเป็นว่า เมื่อไรที่เราเห็นหน้าผู้ชายคนนี้ เราจะเรียกกันแต่ว่า “แอล” แสดงให้เห็นว่า เป็นนักแสดงที่ตีบทแตกได้กระจุย ทำให้คนดูเชื่อและรู้สึกว่าเขาคือแอลจริงๆ โดยลืมนึกไปว่า เขาอาจจะเป็นแค่นายเคนอิจิ ผู้ซึ่งอาจจะไม่ได้โปรดปรานการกินช็อคโกแลตเป็นชีวิตจิตใจ!
หรือหนุ่มอากิยาม่าจากเรื่อง Liar Game เห็นตอนแรกรู้สึกว่าไม่หล่อเอาซะเลย ทรงผมก็ขัดใจได้อีก แต่ดูไปเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็กรี๊ดให้กับผู้ชายคนนี้ไปแล้ว (ไม่ใช่เพราะกลัวนะ แต่ชอบจริงๆ (. .) ) คนนี้ก็เป็นอีกคนที่แฟนซีรี่ส์ญี่ปุ่นจะเรียกเขาว่า “อากิยาม่า” ซึ่งจริงๆ เขาชื่อว่า “Matsuda Shota” (มัทสึดะ โชตะ) แต่คนส่วนใหญ่จะเรียกว่า อากิยาม่า ถ้าเรียกเขาว่า โชตะไปนี่ อาจจะต้องนึกหน้ากันอีกนาน
ปล. พ่อหนุ่มคนนี้เชื่อว่าคนไทยต้องร้องอ๋ออออ ถ้าบอกว่า เขาเคยเล่นเรื่อง “Hana Yori Dango” (F4) รับบทเป็น Nishikado Sojiro หนุ่มเพลย์บอยในแก๊ง F4 !!! (คนซ้ายสุดดด) เราอาจจะเรียกลักษณะพิเศษของ นักแสดงญี่ปุ่นได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่หล่อ แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์และ มากไปด้วยฝีมือการแสดง
จำนวนตอนน้อย
ซีรี่ส์ญี่ปุ่นมีจำนวนตอนตั้งแต่ 10-12 ตอน (1 ตอน ประมาณ 46 นาที) ส่วนใหญ่อยู่ที่ 10 ตอน และจากการที่มีตอนน้อย ทำให้เนื้อเรื่องมีความกระชับ ไม่ยืดเยื้อ คนดูรู้สึกเต็มอิ่ม ไม่ขาดทุน คำว่า “ละครยืด” ตัดออกไปจากซีรี่ส์ญี่ปุ่นได้เลย !
ไม่ค่อยมีซีรี่ส์แนวรัก ทำไมล่ะ!!??
ซีรี่ส์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเน้นให้แนวคิดเกี่ยวกับชีวิตและการทำงาน ในตอนจบบางเรื่องอาจจะมุ่งโฟกัสไปที่ความสำเร็จทางหน้าที่การงาน มากกว่าความรัก เน้นความรักระหว่างครอบครัว มิตรภาพมากกว่าเชิงชู้สาว
อย่างเรื่อง “Rich Man Poor Woman” ก็ถือว่าเป็นซีรี่ส์แนวรักก็ว่าได้ แต่ถ้าดูไปเรื่อยๆ จะพบว่าเขาจะเน้นที่การงาน เรื่องของชีวิตมากกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เขาหยิบเอา ความรักเข้ามาด้วย จนทำให้เรื่องนี้ได้รับความนิยมสำหรับคนไทยอยู่เช่นกัน แม้แต่แฟนซีรี่ส์เกาหลี ยังต้องหันมาเทใจให้กับเรื่องนี้ อีกทั้งแนวซีรี่ส์ที่โด่งดังสุดๆ ของญี่ปุ่นคงหนีไม่พ้น “แนวสืบสวนสอบสวน” เราอาจเคยร้องไห้ไปกับซีรี่ส์แนวรักของเกาหลี แต่ถ้าได้ลองมาดูซีรี่ส์ญี่ปุ่น จะพบว่า เราอาจต้องเสียน้ำตาให้กับซีรี่ส์ฆาตกรรม!
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ ว่าซีรี่ส์แนวฆาตกรรม หรือแนวสืบสวนสอบสวนนอกจากจะมุ่งเสนอความซ่อนเงื่อนของคดีแล้ว ยังนำเสนอความจริงของชีวิต ทำให้รู้ว่าชีวิตมันมีความหมายแค่ไหน แต่ทำไมใครสักคนต้องมาพรากสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” ไป
แต่!!! แนวรักๆ ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นก็มีอยู่เหมือนกันนะ อย่างเช่น Last Friends, Hana Yori Dango (F4), Hana Kimi, Operation Love, Buzzer Beat บางทีสิ่งที่ทำให้คนดูประทับใจในซีรี่ส์ญี่ปุ่นแบบสุดๆ ก็อาจเป็นเพราะมันเกี่ยวกับเรื่องความรักที่น้อยนี่แหละ
จุดแข็งของซีรี่ส์ญี่ปุ่นอาจอยู่ที่แนวละครที่หลากหลายไม่เน้นเฉพาะความรักโรแมนติกที่ หาดูที่ไหนก็ได้มากเกินไปอาจจะมองในอีกแง่ได้ว่า ซีรี่ส์ญี่ปุ่นเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาเพื่อรับใช้สังคม ไม่ใช่เพียงแค่ให้ความบันเทิงอย่างเดียวแต่ยังเป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาล ใจในการดำเนินชีวิตให้เรา พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปอีกด้วย
ความหักมุมของเรื่อง
ความหักมุมเป็นสิ่งที่พบได้มาก โดยเฉพาะเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน เรื่องราวสามารถหักหลังคนดูได้ทุกเมื่อ แต่เป็นการหักหลังที่สร้างความประทับใจให้คนดู แสดงให้เห็นถึงความคิดในการสร้างสรรค์เรื่องราวของผู้แต่ง หนังที่สนุกก็คงเป็นหนังที่คาดเดาถึงตอนจบไม่ได้ใช่ไหมล่ะ นี่แหละคือเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของซีรี่ส์ญี่ปุ่น เรื่อง “Keizoku2 SPEC” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หักมุมสุดๆ
เกรียนได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก
ลักษณะพิเศษของซีรี่ส์ญี่ปุ่นอีกอย่างคือ ความเกรียนของนักแสดง จริงๆ เขาอาจจะไม่ใช่คนเกรียน แต่เขาสามารถเล่นออกได้เกรียนมากๆ เพื่อให้สมกับบทบาทของเรื่อง
เห็นได้จากเรื่อง “Hana Kimi” ความเกรียนสุดขั้วเห็นได้จากบุคลิกของนากาทสึ พระรองของเรื่องที่ชอบพูดคนเดียว ชอบทำท่าประกอบเวลาคิด หัวหน้าหอแต่ละหอก็มีความบ้าภายในตัว หัวหน้าหอหนึ่ง บ้าพลัง หัวหน้าหอสองบ้าผู้หญิง ส่วนหอสาม บ้าไสยศาสตร์และหลงในภาพลักษณ์ตัวเอง

หรือจะเป็นเรื่อง “Hotaru no Hikari” นางเอกสุดสวยของเรา “อายาเสะ ฮารุกะ” เล่นได้อย่างบ้าบอสุดๆ โดยลืมความสวยของตัวเองไปเลย บ้าจนบุโจวในเรื่องต้องกุมขมับ

เต็มไปด้วยคำคมที่กินใจ
ถึงแม้ซีรี่ส์ญี่ปุ่นจะมีความรั่วความเกรียน แต่ในขณะเดียวกันมันก็แฝงไปด้วยข้อคิดและแรงบันดาลใจมากมาย ซีรี่ส์ญี่ปุ่นอาจจะเปรียบได้กับหนังสือแนว How to ได้หนึ่งเล่ม เพราะในเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยคำคม คติสอนใจอย่างมากมายที่อยู่ในนั้น ตัวอย่างคำคมในซีรี่ส์ญี่ปุ่น เช่น

“สถานที่แรกที่คนตายจะเดินทางไปถึง คือการได้เดินเข้าไปในความทรงจำของใครสักคน”

“เงินคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจะทำทุกอย่างเพื่อมัน แต่เราจะไม่ขายจิตวิญญาณของตัวเองเพื่อเงิน”

“ถึงแม้เราจะไม่ได้อะไรมา แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องเสียอะไรไปเช่นกัน”

“มีคนลงแข่งเพื่อที่จะแพ้ด้วยหรือคะ”
“คนที่ฝันสูงๆ เขาไม่ทำอะไรเล่นๆ หรอก”

“หากไม่พยายามจริงจังกันซะตั้งแต่วันนี้ อย่าได้พล่ามถึงความฝันที่แสนดีในอนาคต”>

“ในข้อสอบอาจมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว แต่ในชีวิตจริง
คำตอบที่ดีที่สุด ไม่ได้มีอยู่แค่คำตอบเดียวเสมอไป”
และนี่ก็คือเส่นห์ของซีรี่ส์ญี่ปุ่นในบางข้ออาจจะพบเห็นได้ในซีรี่ส์อื่นๆ แต่เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ซีรี่ส์ญี่ปุ่นน่าดูและน่าติดตาม เป็นซีรี่ส์ที่น่าจะรับไว้ในอ้อมแขน และลองชมกันดูสักครั้งว่างๆ ก็ลองไปเปิดหามาชมกันได้นะคะ รับรองไม่ผิดหวัง^^
<
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– “Hanzawa Naoki” สุดยอดซีรี่ส์คุณภาพ คว้าเรตติ้งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
– ซีรี่ย์ญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ปี 2013
– ซีรี่ย์ญี่ปุ่นชวนให้หิว
– Gegege no Nyobo ละครอัตชีวประวัติผู้เขียนอสูรน้อยคิทาโร่
– ละครญี่ปุ่น
#ซีรี่ส์ญี่ปุ่น