ที่มาของบทความนี้ คือ … คำอุทานว่า “อ้าว …”
… กับหนังเรื่อง The Third Murder ของผู้กำกับ Kore-eda Hirokazu ค่ะ
ที่มาของบทความนี้ คือ … คำอุทานว่า “อ้าว …”
… กับหนังเรื่อง The Third Murder ของผู้กำกับ Kore-eda Hirokazu ค่ะ
http://gaga.ne.jp/sandome/
ที่ผ่านมาดิฉันได้ดูหนังของผู้กำกับโคเรเอดะสองเรื่อง คือ Like Father Like Son … ดูแล้วรักพ่อขึ้นมาทันที กับเรื่อง Our Little Sister ที่เป็นหนังแนวอบอุ่นของสี่พี่น้องสาว สัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ดูแล้วอยากไปหมักเหล้าบ๊วยกับกอดพี่น้อง (ซึ่งดิฉันก็ไม่มี …)
แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเป็นหนังที่เกี่ยวกับฆาตกรรม แต่ดิฉันก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังเรื่องนี้ คงจะสื่อความสัมพันธ์อันดีงามอะไรสักอย่างแน่เลย
แต่หนังออกมาคนละแบบกับที่ดิฉันคาดหวังไว้ จนต้อง อ้าว อ้าว และ อ้าว ไปจนถึงตอนจบของเรื่อง ตอนเดินออกจากโรง ก็มึน ๆ อึน ๆ ออกมา ผ่านมาคืนหนึ่ง ดิฉันก็ยังคิดทบทวนหนังต่อ และยังรู้สึกมีความสงสัยอะไรบางอย่างอยู่ในใจ ที่ตัวเองก็ตอบไม่ได้ว่าถามอะไร จึงค้นหาบทสัมภาษณ์ผู้กำกับและนักแสดงไปเรื่อย ๆ …. จนกลายมาเป็นบทความนี้ค่ะ
มนุษย์จะสามารถตัดสินมนุษย์ได้หรือ?
หนังเรื่องนี้ เริ่มจากคำถามสั้นๆ คำถามนี้
เมื่อช่วงฤดูร้อน ปีค.ศ.2015 คุณโคเรเอดะ ได้มีโอกาสไปทานข้าวกับทนายความ บทสนทนาเป็นเรื่องของข่าวโทรทัศน์ที่มักรายงานว่า “ตามหาความจริงกันต่อในศาลอุทธรณ์” เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินแล้วมีการอุทธรณ์ ทนายท่านหนึ่งในวันนั้น บอกว่า เขารู้สึกแปลก ๆ กับประโยคข้างต้น เพราะในมุมมองของทนายแล้ว ห้องพิจารณาคดี ไม่ใช่สถานที่ที่ค้นหาความจริง
คุณโคเรเอะจึงถามว่า “แล้วห้องพิจารณาคดี หรือศาล มีไว้ทำอะไรล่ะ”
ทนายท่านนั้นตอบว่า “ไว้ปรับผลได้-ผลเสียครับ”
ในเมื่อมนุษย์ ก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ มีอารมณ์ความรู้สึก มีความไม่สมบูรณ์ แล้วทำไมมนุษย์ถึงจะตัดสินมนุษย์ด้วยกันเองได้ ขณะเดียวกัน การที่เรายอมรับสภาพเช่นนี้ ยอมให้ใครมาตัดสิน ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเช่นกัน
โคเรเอดะจึงเริ่มสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากเหล่าทนายกว่า 1 ปี ทั้งยังลองสมมติสถานการณ์ศาลจริง ๆ โดยตั้งเป็นฝ่ายโจทก์ ฝ่ายอัยการ ผู้พิพากษา และจำเลย พร้อมทั้งนำคำพูดและปฏิกิริยาต่างๆ ของคนเหล่านั้น เขียนออกมาเป็นบทแสดง
https://www.oricon.co.jp/photo/2367/145477/
หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่หนังที่ผู้กำกับจะรู้เรื่องราวทั้งหมดอยู่ก่อนแล้ว แต่มาจากเรื่องราวของผู้เกี่ยวข้องแต่ละราย ที่โคเรเอดะลองให้พวกเขาว่าความกันจริง ๆ ต่อสู้กันในศาลจริง ๆ มา
เรื่องง่ายๆ ที่กลายเป็นเรื่องยาก … เมื่อจะค้นหาความจริง
โคเรเอดะจึงเริ่มเขียนบทที่ให้มนุษย์ตัดสินมนุษย์ดู คดีง่าย ๆ … เกี่ยวกับมิซุมิ ชายที่ (น่าจะ) ฆ่าเจ้านายตัวเอง และโดนจับข้อหาฆาตกรรมปล้นชิงทรัพย์ ชิเกโมริ ทนายความหนุ่มถูกตามตัวมาช่วยคดีนี้ และพยายามหาทางลดโทษ
คดีมีเพียงเท่านี้เอง
แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของชิเกโมริ ทนายหนุ่ม ซึ่งเดิมที ไม่สนใจว่า ความจริงจะเป็นอย่างไร เขาคิดเพียงแต่จะหาทางให้ศาลตัดสินลดโทษให้กับผู้ต้องหาให้ได้ แต่เมื่อพยายามสอบถามพยาน และคนรอบตัวเหยื่อและผู้ต้องหาเท่าไร เขาก็ยิ่งไม่แน่ใจว่า ใครกันแน่ที่พูดจริง ใครเป็นคนฆาตกรรม และทำไปเพื่ออะไร?
แต่สุดท้าย ศาลก็ตัดสินผลออกมา
หนังเรื่องนี้จึงชวนให้เรากลับไปคิดว่า มนุษย์ควรจะตัดสินมนุษย์หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องเล็ก ๆ ที่ไม่มีทางรู้ว่าใครพูดจริง ทำจริง
ไม่มีใครรู้ความจริง
ในหนังจะมีฉากที่คนดูไม่รู้ว่าความจริงคืออะไรกันแน่ แต่จริง ๆ แล้ว … ตัวนักแสดงเอง ตลอดจนผู้กำกับเอง ก็ไม่ทราบเหมือนกัน
จากซ้ายไปขวา: ผู้กำกับ โคเรเอดะ , คุณฟุกุยาม่า (รับบททนาย) และคุณยาคุโช (รับบทผู้ต้องหา) https://www.cinematoday.jp
“ผมก็เล่นไปทั้ง ๆ ที่ไม่รู้นั่นแหละครับ แต่ผู้กำกับบอกโอเค ผมก็คิดว่าน่าจะโอเค” มาซาฮารุ ฟุกุยาม่า ผู้รับบททนายหนุ่มบอก
ส่วนตัวผู้กำกับ โคเรเอดะเอง ก็บอกว่า จริง ๆ แล้ว เขาเองก็ไม่รู้คำตอบเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวของผู้ต้องหา แม้จะมีนักแสดงถามเขาว่า “ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ล่ะ” ตัวโคเรเอดะเอง ก็ตอบไม่ได้เช่นกัน เขาเองก็คิดว่าผู้ชมคงมีปฏิกิริยาอย่างนี้เช่นกัน
เป็นหนังที่ไม่รู้ความจริง … ขณะเดียวกัน ก็ชวนให้เราคิดวิเคราะห์เหลือเกินว่า ใคร ทำอะไร เพื่อใคร หรือเพราะอะไร?
เรื่องราวบางอย่าง เราอาจไม่จำเป็นต้องรู้ความจริง … หรือไม่มีทางรู้ความจริงก็ได้
สุดท้ายนี้ … โดยส่วนตัว ดิฉันทึ่งกับการแสดงของคุณยาคุโช โคจิ นักแสดงชื่อดังของญี่ปุ่น ในการสวมบทมิซูมิ ผู้ต้องหาคดีในครั้งนี้ ท่านใดมีโอกาสลองสังเกตสีหน้า แววตา ออร่าเหมือนจะเป็นฆาตกร แต่ก็เหมือนเป็นอบอุ่น น่าเข้าหา ของคุณยาคุโชนะคะ
Fun Facts:
• ตัวเอกหลักสองตัว คือ ทนายหนุ่ม (นำแสดงโดยมาซาฮารุ ฟุกุยาม่า) และผู้ต้องหา (นำแสดงโดยยาคุโช โคจิ) ร่วมแสดงหนังด้วยกันเป็นครั้งแรกในเรื่องนี้
• ทั้งคู่ยังเป็นคนบ้านเดียวกัน คือ จังหวัดนางาซากิ
• ด้วยเหตุนี้ ผู้กำกับโคเรเอดะ จึงเกือบจะถ่ายทำหนังในนางาซากิ แต่ติดที่มีฉากหิมะ จึงต้องถ่ายทำที่จังหวัดอื่นแทน
• โดยปรกติหากมีนักแสดงเด็ก โคเรเอดะจะไม่ให้บทแก่นักแสดง เพราะเชื่อว่าเด็กจะเล่นเป็นธรรมชาติมากกว่าหากไม่มีบท
• แต่ครั้งนี้ตัวละครเด็ก คือ ลูกสาวของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญ นำแสดงโดยซุซุ ฮิโรเสะ ผู้กำกับฯ ตัดสินใจส่งบทให้เธอ เพราะเห็นว่าคงจะยากมากหากเธอมาเล่นบทโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

http://www.cinemacafe.net
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– 8 กิจกรรมที่คงไม่ได้ทำชาตินี้ ถ้าเกตุวดีไม่ได้ไปญี่ปุ่น
– ทำไมญี่ปุ่นไม่มีการจอดรถซ้อนคัน
– สิ่งที่คนญี่ปุ่นแปลกใจเมื่อมาโฮมสเตย์บ้านคนไทย
– จัดงานประดับไฟอย่างไรให้ได้เงิน…บทเรียนจากงาน Luminarie เมืองโกเบ
– ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ปฏิเสธไกด์บุ๊คมิชลิน
#The Third Murder