รูปแบบการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นที่เคร่งเครียด เต็มไปด้วยการแข่งขัน บางทีก็จำเป็นต้องหาสื่อต่างๆ มาแก้เบื่อให้กับชีวิต ทั้งหมดนี้คือบริบทสำคัญ ที่ทำให้ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อต่างๆ อย่างเต็มที่ ดังนั้นวันนี้ จะพูดเรื่อง “สื่อโทรทัศน์”
หลังจากที่ตัวผมเองสนใจศึกษาเรื่องประเทศญี่ปุ่นมาสักพัก ผมสังเกตว่าประเทศนี้มีการเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงมาก ทั้งด้านการอำนวยความสะดวก และการให้ความบันเทิงแก่ประชาชน นอกจากนี้ เทคโนโลยีทุกประเภท ก็สามารถผสานเข้ากับวิถีชีวิตของคนได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เคร่งเครียด เต็มไปด้วยการแข่งขัน หรือเพราะการเดินทางบนรถไฟ ที่จำเป็นต้องหาสื่อต่างๆ มาแก้เบื่อให้กับชีวิต ทั้งหมดนี้คือบริบทสำคัญ ที่ทำให้ญี่ปุ่นเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและสื่อต่างๆ อย่างเต็มที่ ดังนั้นคอลัมน์ของผมในวันนี้ จะพูดในประเด็นของ “สื่อโทรทัศน์”
ย้อนกลับมาในเมืองไทยสักนิดหนึ่ง อย่างที่เราทราบกันดี คือประเทศไทยมีการผูกขาด “ฟรีทีวี” มาเป็นเวลานาน และเคเบิลทีวีที่ได้รับความนิยม ยังอยู่ในระดับที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง อาจด้วยราคา หรือไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่ารึเปล่า เพราะช่องต่างๆ ในเมืองไทย อยู่ในสถานะของการ “ซื้อช่องรวมๆ” เหตุนี้ สำหรับบางคนที่ต้องการดูเพียงรายการเดียว ก็จะเพิกเฉยต่อการขายดังกล่าว กลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจทีวีไทย ไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของ PAY – PER – VIEW ที่ประเทศเรายังไม่แข็งแรง ถึงแม้จะมีความพยายามโดยบริษัทเคเบิลทีวีบางแห่งในการถ่ายทอดกีฬา (เช่น กีฬาชกมวย) แต่กืถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเลย
โดยส่วนตัวผมคลุกคลีกับธุรกิจโทรทัศน์ญี่ปุ่นอยู่พอสมควร ด้วยความที่ได้ร่วมทำธุรกิจมวยปล้ำกับชาวญี่ปุ่น และต้องติดต่อพูดคุยกับตัวแทนช่องอยู่เสมอๆ ซึ่งช่องที่ผมพูดคุยด้วยนั้น เป็นช่องที่ถ่ายทอดกีฬาต่อสู้โดยเฉพาะ ไม่ต้องมีข่าวการเมือง ไม่ต้องมีข่าวดาราเกาเหลากัน คือผู้ชมก็เปิดช่องนี้ทิ้งไว้ได้ทั้งวัน เรตติ้งก็ดีอยู่ตลอด สปอนเซอร์ก็เข้าตลอด ช่องก็อยู่ได้ ไม่มีวันตาย (ขอสงวนนามนะครับ แต่ถ้าใครติดตามวงการกีฬาญี่ปุ่นก็จะทราบดีว่าเป็นช่องไหน เพราะมีอยู่ที่เดียว)
ซึ่งมันก็เป็นคำตอบของคนที่ต้องการ “ดูกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น” ผมคุยกับทางทีมงานและได้ข้อคิดมาว่า ปัจจุบันอัตราการเปิดโทรทัศน์เพื่อดูรายการอะไรสักอย่างนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะสื่อดิจิตอล โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ทนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงในชีวิตประจำวัน ดังนั้นประชาชนจะเลือกเปิดทีวี เพื่อดูสิ่งที่เขาสนใจจริงๆเท่านั้น (อย่างเช่นรายการเพลงในปัจจุบัน จากฉาย PV ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็น Performance แทน เนื่องจากคนต้องการความสดใหม่ ที่หาไม่ได้ตาม YouTube) ผมถือว่าโลกโทรทัศน์ของญี่ปุ่นกว้างมาก และสามารถตอบสนองผู้ชมได้มากกว่าในไทยเยอะเลยล่ะครับ
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกับทีวีดิจิตอล ผมก็ได้นำประเด็นเรื่องสื่อโทรทัศน์ ไปคุยกับคุณมาริสา เสลานนท์ นักศึกษาไทยที่มีประสบการณ์โดยตรงกับการทำรายการโทรทัศน์ในสื่อต่างประเทศ เช่น ITV ในประเทศอังกฤษ รวมถึงกำลังศึกษาแนวทางการดำเนินงานของสื่อโทรทัศน์ในญี่ปุ่น โดยเธอให้มุมมองเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เมื่อ พูดถึงกระแสนิยมของเทคโนโลยีในประเทศไทย ณ ขณะนี้ คงหนีไม่พ้นกระแสของ Digital TV ที่ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของบ้านเรา แต่ที่ญี่ปุ่นเขาได้มีการพัฒนาและเริ่มใช้ระบบนี้ มาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว โดยสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่อย่าง NHK TV ได้เริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2000 และถูกใช้ทั่วประเทศในเดือนกรกฏาคมปี 2011 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก็ก็ก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญกับประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน
กล่าวคือ เมื่อระบบโทรทัศน์ของญี่ปุ่นถูกเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล ที่สามารถถ่ายทอดภาพและเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางสถานียังสามารถเพิ่มจำนวนรายการ หรือนำสื่ออื่นมาปรับใช้ร่วมกับรายการทีวีได้ง่ายขึ้น เช่น ในญี่ปุ่น มีการใช้ระบบ Digital TV ควบคู่ไปกับ Smart TV อย่างแพร่หลาย จึงทำให้การเชื่อมต่อระหว่าง Mass media และ Social Media เป็นไปโดยง่าย ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่คุณกำลังชมรายการอาหาร คุณสามารถที่จะเปลี่ยนหรือคลิกตามลิงค์ที่รายการนั้นมีให้ เพื่อที่จะชมข้อมูลเพิ่มเติม หรือแม้แต่สั่งซื้อวัตถุดิบของอาหารที่ทำในรายการได้ รวมถึงคุณสามารถที่จะแชร์ข้อมูลของรายการนั้นๆ ให้กับเพื่อนทาง Social Network ได้ เป็นต้น”
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีการนำระบบดิจิตอลทีวีมาใช้นานแล้ว แต่รายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ยังเน้นแนวอนุรักษ์นิยม (Conservative) คือเน้นการสร้างรายการที่มีรากฐานหรือสะท้อนจากคติความเชื่อของคนญี่ปุ่น มากกว่าการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาทำ และเลือกที่จะขายวัฒนธรรมของตนออกไปแทน เช่นรายการอย่าง TV Champion ที่สามารถขายวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ในระดับสากล”
คุณมาริสาแจ้งมาว่าหากอยากพูดคุยหรือสอบถามเรื่องเกี่ยวกับสื่อต่างๆ ในมุมมองที่สงสัย ก็สามารถติดต่อเธอได้โดยตรงทาง http://www.facebook.com/MarisaSelanon และ th.linkedin.com/pub/marisa-selanon/65/288/713/ ซึ่งเธอพร้อมตอบคำถามและพูดคุยกับผู้ที่สนใจทุกๆ คน
ปล. อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านสื่อและเทคโนโลยีทีที่รวดเร็วของญี่ปุ่นนั้น ก็เป็นดาบสองคม เพราะในอีกมุมหนึ่ง มีการวิจัยและค้นพบว่าการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ความตึงเครียดในสังคมกระจายตัวเป็นวงกว้าง จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คนสูงอายุรู้สึกเหงา ฟุ้งซ่านและว้าเหว่มากขึ้น อันนำไปสู่ความห่างเหิน และกลายเป็นปัญหาครอบครัวในที่สุด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง >>
– Ikemen ผู้ชายหน้าตาดีที่ไม่ได้มีแต่ในวงการบันเทิง!
– Freaky Bungee รายการญี่ปุ่นที่ช่วยให้สบายใจขึ้น
– ไทกะ ละครย้อนยุครายปี อิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทางช่อง NHK
– Gegege no Nyobo ละครอัตชีวประวัติผู้เขียนอสูรน้อยคิทาโร่
– ละครญี่ปุ่น
#สื่อ